วาดด้วยสีเดียว
(MONOCHROME)

         วาดภาพเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย จริงจังแต่ไม่เคร่งเครียด ไม่เร่งรัด และไม่มีทางลัดที่จะก้าวสู่จุดหมายเร็วกว่าวิถีทางของความเป็นจริง ความเข้าใจถูกบ่มเพาะเมื่อได้ลงมือปฏิบัตร ระยะทางจะหดสั้นเข้า เมื่อเราได้ลืมและละวางเสียซึ่งจุดหมาย

         น้ำหนักยังคงสร้างรูปทรงของภาพ ความคมชัดกับความลางเลือน ยังเปรียบเทียบให้เห็นถึงความใกล้-ไกลระยะของภาพสร้างความสัมพันธ์กับเรื่องราว เหตุและผลในธรรมชาติยังคอยกระซิบความจริงกับเราเสมอ เมื่อเขียนภาพได้ดีด้วยน้ำหนักของดินสอแล้ว ก็เปลี่ยนมาทดลองใช้น้ำหนักของสีดูบ้าง เพื่อนใหม่ในวันนี้ของเรา คือ พู่กัน จงผูกมิตรกับเธอเรียนรู้ที่จะเข้าใจ สร้างความคุ้นเคย พู่กัน คือ เพื่อนที่ดี คือ สารถีที่จะนำพาน้ำหนักอ่อน-แก่ ของสีระบาย (PAINTING) ลงบนพื้นผิวของกระดาษ

         เริ่มต้นกับพู่กันด้วยสีเพียงสีเดียว ควรเลือกใช้สีที่มีความเข้มพอที่จะสร้างน้ำหนักได้ครบ 9 ระยะ คือ สีในกลุ่มของน้ำเงิน เช่น PRUSSIAN BLUE กลุ่มของน้ำตาล เช่น BURNT UMBER หรือดำ LAMP BLACK พื้นฐานความเข้าใจในการวาดเส้น (DRAWING) ลำดับขั้นตอนที่เรียนรู้ฝึกฝนมา จะช่วยประคับประคองการเขียนภาพเช่นเดิมทุกอย่าง เพียงแต่เปลี่ยนจากดินสอมาเป็นพู่กัน เปลี่ยนจากน้ำหนักขาวดำมาเป็นน้ำหนักของสี สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม คือ น้ำหนักอ่อน-แก่ของสี ที่มีน้ำเป็นตัวทำละลายให้เกิดความเข้มหรืออ่อน ไม่ใช่น้ำหนักของมือเหมือนการเขียนด้วยดินสอ

         น้ำหนักมือในการใช้พู่กันจะคงที่ ไม่ว่าจะเขียนช้าหรือเร็ว น้ำหนักของภาพจะเข้มขึ้นหรืออ่อนลง ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำและเนื้อสี จะใช้พู่กันด้วยความทะนุถนอม ปาดป้ายลงบนกระดาษด้วยสัมผัสที่นุ่มนวล เพราะพื้นผิวของกระดาษ (TEXTURE) บอบบาง ซ้ำร้ายส่งผลต่อการซ้ำลงที่เดิม และก็จะเริ่มมองเห็นว่า วัสดุอุปกรณ์ของการวาดสีน้ำล้วนมีเงื่อนไขประจำตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ พู่กัน จานสี หรือน้ำ ความยุ่งยากซับซ้อนจะเกิดขึ้นหากยังไม่เข้าใจ คุณสมบัติที่แท้จริงของวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวคงต้องขยายความ พูดคุยเป็นเรื่อง ๆ ไปโดยลำดับอย่างละเอียดในโอกาสต่อไป

         สิ่งสำคัญ คือ ผู้ฝึกจะต้องทดลองด้วยตัวเองเสียก่อน จุดมุ่งหมาย คือ ต้องการรูปทรงที่เกิดขึ้นจากน้ำหนักตามที่ตาเห็น เพิ่มปริมาณของสี เมื่อต้องการความเข้มเพิ่มปริมาณของน้ำ เมื่อต้องการความอ่อน สังเกตค่าของน้ำหนักในจานสีของตัวเองอาจหากระดาษมาทดสอบค่าของสีก่อนป้ายลงบนชิ้นงานหากยังไม่แน่ใจ

         การสังเกตมีความสำคัญมาก จะช่วยให้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงความพร้อมของกระดาษที่วาดว่าควรจะซ้ำ-ทับได้ขณะใด กระดาษจะมีความแห้ง ความเปียก และความหมาด (กึ่งแห้งกึ่งเปียก) ลองทดลองดูว่า เมื่อซ้ำในขณะที่แห้งเปียก และหมาดจะเกิดผลอย่างไร

         ในการฝึกหัดไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าผลของการได้ทดลอง ควรละวางความคาดหวังจากงาน เพราะนี่คือการเรียนรู้ ความกระจ่างแจ้งจะค่อย ๆ เกิดขึ้น

         ธรรมชาติของผู้เริ่มต้น มักถูกความคาดหวังของตนบดบัง และเหนี่ยวนำให้ไขว้เขว จงอย่าพยายามเข้าใจอะไรไปเสียหมดด้วยความคิดไม่มีสูตรสำเร็จในการเขียนภาพเหมือนอย่างสูตรในการปรุงอาหาร กลวิธีเฉพาะ(ทักษะ) บางอย่างอาจทำให้มือใหม่เขียนภาพได้เร็วขึ้น แต่วิธีการที่ไม่มีได้มาจากพื้นฐานความเข้าใจ อาจเบี่ยงเบนให้ไกลห่างไปจากจุดหมาย

         ความเข้าใจที่แท้จริงจะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละนิดทีละน้อย ดั่งผลไม้ที่แก่เต็มที่เคลื่อนสู่การสุกงอม